วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ละมั่ง



                     ละมั่ง
แต่เดิมมาคำว่าง "ละอง" มักใช้เรียกตัวผู้ขนาดใหญ่ ที่มีขนคอยาว สีค่อนข้างดำ ส่วนตัวเมีย มักเรียกว่า ละมั่ง บางคนมักเรียกรวมกันไปว่า ละองละมั่ง แต่ส่วนใหญ่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า "ละมั่ง" ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งชื่อ "ละมั่ง" นี้น่าจะมีต้นตอเรียกเพี้ยนมาจากชื่อเรียกในภาษาเขมรว่า "ล่าเมียง" ลักษณะของละองหรือละมั่ง เป็นกวางค่อนข้างขนาดใหญ่ ตัวเล็กและเพรียวบางกว่ากวางป่า ซึ่งเป็นกวางขนาด ใหญ่ที่สุดของไทย เส้นขนตามตัวละเอียดแน่นอย่างขนเก้ง สีน้ำตาลแกมเหลือง ช่วงคอยาว ใบหูกางใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีเส้นขนรอบคอหยาบยาว และสีขนตามตัวเข้มคล้ำกว่า ลูกเกิดใหม่จะ มีแต้มจุดขาวๆ ตามตัว เมื่อโตขึ้นจะจางหายไป ลักษณะเขาของละมั่งตัวผู้ มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากเขาของกวางไทยชนิดอื่นๆ เขากิ่งหน้าหรือกิ่งรับหมา ยาวยื่นโค้งทอดไปบนหน้าผาก ทำมุมแคบกันสันหน้าผาก ปลายกิ่งเรียวแหลม ดูคล้ายกวางมีเขาที่หน้าผาก จึงได้ชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Brow-antlered Deer" ส่วนตัวลำเขาทอดโค้งลาดไปทางด้านหลังช่วงปลายเขาวกงอกกลับมาด้านหน้าคล้ายกับตะขอ ส่วนโค้งของกิ่งรับหมากับลำตัวเขารับกันพอดีที่ตรงฐานเขาจนดูเหมือนเป็นลำเขาเดียวกัน ไม่ตั้งทำมุมกันอย่างเขากวางทั่วๆ ไป ช่วงปลายลำเขา จะบิดถ่างแยกจากกันปลายเขา ที่งอเป็นตะขอ จะแตกออกเป็นแขนงเขาแยกกัน คล้ายนิ้วมือหลายแขนง เขาบางคู้มีแขนงเขาปลายกิ่งมาก จะทำให้ปลายเขามีลักษณะแบนใหญ่ออกไป นอกจากนี้บริเวณช่วงต่อของกิ่งรับหมากับลำเขา จะมีแขนงเขายื่นขึ้นมาคล้ายนิ้วมือข้างละ 2-3 กิ่งอีกด้วย ละมั่งพันธุ์ไทย จำแนกเป็นชนิดย่อย Cervus eldi siamensis Lydekker, 1915 มีลักษณะปลายลำเขา แบนใหญ่ แตกเป็นแขนงเล็กๆ หลายแขนงคล้ายมือ และบริเวณรอยต่อกิ่งรับหมากับลำเขามีแขนงเขาเล็กๆ ยื่นขึ้นมา 2-3 กิ่ง ส่วนอีกชนิดพันธุ์หนึ่ง เป็นพันธ์พม่า ที่เรียกว่า "ทมิน" ในภาษาพม่า เป็นชนิดย่อย Cervus eldi thamin Thomas,1918 มีลักษณะสีขนตามลำตัวเข้มกว่าพันธุ์ไทย ปลายลำเขาค่อนข้าง มีแขนงเขา น้อยกว่า และส่วนใหญ่จะไม่มีแขนงเยายื่นขึ้นมาบริเวณลำตัวเขา ละมั่งทั้ง 2 ชนิดมีพบในประเทศไทยทั้งคู่ ขนาดของละมั่งในประเทศไทย ขนาดตัว 1.5-1.7 เมตร หางยาว 0.22-0.25 เมตร ส่วนสูงที่ช่วงไหล่ 1.2-1.3 เมตร ใบหูยาว 0.15-0.17 เมตร น้ำหนัก 95-150 กก.
ลักษณะทั่วไป
     ในภาษาพม่าเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "ทมิน" มีสีขนตามตัวเข้มกว่าพันธุ์ไทย ปลายลำเขาค่อนข้างมีแขนงเขาน้อยกว่า และส่วนใหญ่จะไม่มีแขนงเขายื่นขึ้นมาบริเวณตัวลำเขา
ถิ่นอาศัย, อาหาร
     เขตการกระจายพันธุ์ของละมั่ง มีพบในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเกาะไหหลำของประเทศจีน ไม่พบแพร่กระจายลงทางใต้ แถบภาคใต้ของไทย ตลอดจนแหลมมลายู
     นิสัยการกินอาหารของละมั่งคล้ายกับพวกวัว ควาย ปกติชอบกินหญ้าและลูกไม้ต่าง ๆ ตามพื้นทุ่งโล่งหรือป่าโปร่ง ไม่ค่อยชอบกินใบไม้นัก
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
     ความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของละมั่ง ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในอดีตครั้งยังมีละมั่งชุกชุมทั่วไป มีรายงานพบฝูงละมั่งขนาดใหญ่มีจำนวนถึงประมาณ 50 ตัว แต่ปัจจุบันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป และจำนวนประชากรละมั่งลดน้อยลงมาก จึงพบแต่ละมั่งอยู่ตัวเดียวหรือฝูงเล็ก ๆ โดยทั่วไปชอบอาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่งหรือป่าทุ่งใกล้ ๆ หนองน้ำ ตอนกลางวันที่อากาศร้อนละมั่งจะหลบร้อนไปอยู่ตามใต้ร่มไม้ชายป่า ถ้าเป็นตัวผู้ขนาดใหญ่ซึ่งขี้ร้อนกว่า มักจะลงนอนแช่ปลักโคลนตามหนองน้ำอย่างพวกควาย ปกติไม่ชอบอาศัยอยู่ตามป่ารกทึบ โดยเฉพาะตัวผู้ เนื่องจากเขาบนหัวมีกิ่งปลายแหลมยื่นมาข้างหน้า อีกทั้งปลายลำเขาที่โค้งงอมาด้านหน้า และแตกปลายออกเป็นแขนงกิ่งเล็ก ๆ ทำให้เวลาเข้าป่ารกทึบ กิ่งและแขนงเขาจะไปขัดเกี่ยวกิ่งไม้และเถาวัลย์ต่าง ๆ คาดว่าด้วยสาเหตุนี้ จึงไม่พบละมั่งตามป่าทางภาคใต้และมาเลเซีย ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบทึบไม่เหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยของละมั่ง
     ฤดูผสมพันธุ์ของละมั่งในธรรมชาติ พบอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ส่วนละมั่งที่เพาะเลี้ยงอยู่ตามสวนสัตว์ต่าง ๆ มักจะไม่มีฤดูผสมพันธุ์แน่นอน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน ระยะตั้งท้องนาน 240-244 วัน ออกลูกท้องละ 1 ตัว ลูกแรกเกิดจะมีลายจุดสีขาว ๆ ตามตัว โตขึ้นจะค่อย ๆ จางหายไป แต่ตัวเมียบางตัวจะยังคงมีจุดจาง ๆ นี้ให้เห็นจนโต วัยเจริญพันธุ์ของละมั่งตัวผู้อายุประมาณ 1 ปีขึ้นไป ส่วนตัวเมียประมาณ 2 ปี ขึ้นไป
สถานที่ชม
      สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น